เคยงงมั๊ยครับในคลาสโยคะบางทีครูบอกว่าให้เกร็งกล้ามเนื้อแกนกลาง?
เวลาพูดถึงกล้ามเนื้อแกนกลาง (Core Muscles) ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงกล้ามเนื้อหน้าท้อง แล้วทำไมไม่บอกให้เกร็งหน้าท้องไปเลยล่ะ?
จะว่าไปก็พูดยาก ส่วนหนึ่งก็หมายถึงกล้ามเนื้อหน้าท้องนั่นแหละ แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือถ้าครูโยคะใช้คำนี้ก็มักจะหมายถึงกล้ามเนื้อในชั้นที่ลึกและเข้าถึงยากกว่ากล้ามเนื้อหน้าท้องอย่างที่เราเข้าใจกันรวมอยู่ด้วย
กล้ามเนื้อมัดไหนนับเป็นกล้ามเนื้อแกนกลางบ้าง?
ครูแต่ละคน ตำราแต่ละเล่มก็อ้างอิงแตกต่างกันไป บางตำราครอบคลุมไว้กว้างมาก คือทุกอย่างที่ไม่ใช่แขนขาเป็นแกนกลางทั้งหมด แต่บางสำนักก็จำกัดความหมายไว้แค่แถว ๆ หน้าท้อง แต่เป็นที่ยอมรับตรงกันว่ากล้ามเนื้อแกนกลางที่ว่านี้ไม่ได้มีมัดเดียวแน่นอน
อย่างไรก็ตาม บริเวณที่มักจะถูกอ้างอิงถึงอยู่บ่อย ๆ เมื่อพูดถึงกล้ามเนื้อแกนกลางก็ได้แก่ กล้ามเนื้อหน้าท้อง (Abdominal Muscles) กล้ามเนื้องอข้อสะโพก (Hip Flexors) กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor) และกะบังลม (Diaphragm) โดยในบทความนี้จะขอเจาะจงไปที่กล้ามเนื้อหน้าท้องเท่านั้นครับ
ทำความรู้จักกับกล้ามเนื้อหน้าท้อง
แม้จะบอกว่าเจาะจงพูดถึงเฉพาะกล้ามเนื้อหน้าท้องแล้วก็ตาม แต่กล้ามเนื้อหน้าท้องก็ยังมีทั้งด้านหน้าและด้านข้าง ด้านนอกและด้านใน พูดให้ครบก็คือมีกล้ามเนื้อหลัก ๆ อยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 มัด
Rectus Abdominis

เป็นกล้ามเนื้อหน้าท้องที่น่าจะเป็นที่รู้จักมากที่สุดในบรรดาทั้งหมด เพราะมันคือส่วนที่เป็น Six Pack สวย ๆ ซึ่งอยู่ด้านหน้าและอยู่ชั้นนอกสุด Rectus Abdominis มีหน้าที่หลักก็คือใช้ในการงอลำตัว เช่นเวลาที่เราทำ Sit Up ตัวอย่างของอาสนะที่มีการใช้งานกล้ามเนื้อมัดนี้ ได้แก่
- Cat (Marjaryasana)
- Crow (Bakasana)
- Scale (Tolasana)

External Oblique

มีด้านหน้าแล้วก็ต้องมีกล้ามเนื้อหน้าท้องด้านข้างด้วย External Oblique เป็นกล้ามเนื้อที่พาดตัวเป็นแนวเฉียงจากซี่โครงลงมาหาเชิงกราน ทำหน้าที่งอลำตัวได้ด้วยเช่นกัน แต่หน้าที่การทำงานของ External Oblique ที่ชัดเจนที่สุดคือการเอียงลำตัวไปด้านข้างและการบิดลำตัว ตัวอย่างอาสนะที่มีการใช้งานกล้ามเนื้อมัดนี้ ได้แก่
- Side Angle (Parsvakonasana)
- Gate (Parighasana)
- Seated Spine Twist (Ardha Matsyendrasana)

Internal Oblique

อยู่ลึกลงมาใต้ External Oblique อีกชั้นหนึ่ง Internal Oblique เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านข้างเช่นเดียวกัน มีการพาดตัวเป็นแนวเฉียงตรงกันข้ามกับ External Oblique และมีขนาดเล็กกว่า แต่ก็เป็นกล้ามเนื้อที่ช่วยเสริมการทำงานให้กับ Internal Oblique ได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงเป็นตัวช่วยสร้างความมั่นคงให้กับแกนกลางลำตัวโดยรวมได้อีกด้วย ตัวอย่างอาสนะที่มีการใช้งานกล้ามเนื้อมัดนี้ ได้แก่
- Extended Triangle (Utthita Trikonasana)
- Twisted Triangle (Parivrtta Trikonasana)
- Side Plank (Vasisthasana)

Transverse Abdominis

มาถึงชั้นที่อยู่ลึกสุดแต่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง Transverse Abdominis พาดขวางหน้าท้องทั้งหมด เมื่อกล้ามเนื้อมัดนี้ทำงานจะคล้าย ๆ กับรัดเข็มขัดให้กระชับ ร่วมถึงเป็นการบีบอวัยวะภายในช่องท้องทั้งหมดในคราวเดียว บ่อยครั้งที่เวลาพูดถึงการใช้กล้ามเนื้อแกนกลางครูโยคะมักจะหมายถึงมัดนี้ เพราะเป็นมัดที่ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับแกนกลางทั้งหมด ตัวอย่างอาสนะที่มีการใช้งานกล้ามเนื้อมัดนี้ ได้แก่
- Four-Limbed Staff (Chaturanga Dandasana)
- Boat (Navasana)
- Warrior 3 (Virabhadrasana 3)

การรู้จักกล้ามเนื้อเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกที่ควรจะเกิดขึ้นในแต่ละอาสนะและสามารถใช้ร่างกายได้อย่างเหมาะสม อาสนะไหนเราควรจะงอตัวหรือควรเอียงหรือบิดไปด้านข้าง หรือควรจะกระชับรอบ ๆ แกนกลางทั้งหมด ถ้าเราต้องการอย่างหนึ่ง แต่กลับมีอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแทน (เช่นทำท่า Plank แต่ตัวงอคล้ายท่า Cat) ก็หมายความว่าเรากำลังใช้กล้ามเนื้อบางมัดมากเกินไปและบางมัดน้อยเกินไป
ทำให้เราสามารถปรับปรุงการฝึกได้ ในขณะเดียวกันก็ได้รู้จักร่างกายของเราเองมากขึ้นไปด้วยในตัว
สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับกล้ามเนื้อหน้าท้องและแกนกลาง และและฝึกฝนเพิ่มเติมได้จากวิดีโอเหล่านี้




